ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับมาลัย
บรรพบุรุษของไทยเรามีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้ และวัสดุอื่น ๆ เป็นที่ขึ้นชื่อมานานแต่โบราณกาลแล้ว แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการเริ่มต้นมาแต่ในสมัยใดแน่ คงเนื่องมาแต่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้นั่นเอง จึงไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบค้น ต่อมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ครั้งสมัยพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระสนมเอก คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในงานด้านฝีมือในการประดิษฐ์ดอกไม้สดเป็นเลิศ
ในสมัยนั้นตามหลักฐานที่อ้างถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี 12 เดือน ตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งดงามวิจิตรกว่าโคมของพระสนมอื่นทั้งปวง โดยการนำเอาดอกไม้ต่าง ๆมาประดิษฐ์ตกแต่ง และยังได้เอาผลไม้มาทำการแกะสลักตกแต่งประกอบไปด้วย แต่ก็มิได้มีการอ้างถึงว่า ในการตกแต่งครั้งนั้นมีการร้อยมาลัยมาประดับตกแต่งด้วยหรือไม่ และในหลักฐานที่อ้างถึงตอนหนึ่งว่า ในเดือนเมษายนมีพระราชพิธีสนามใหญ่บรรดาเจ้าเมือง เศรษฐี คหบดีเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้า เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ พระสนมกำนัลต่าง ๆ ก็ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ใส่เมี่ยงหมากถวายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ผู้มาเฝ้าและในครั้งนั้นนางนพมาศก็ร้อยดอกไม้สีเหลืองเป็นรูปพานทองสองชั้นรองขัน มีระย้าระบายงดงามในขันใส่เมี่ยงหมาก แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายคลุมขันอีกทีหนึ่งเป็นที่เจริญตาและถูกกาละเทศะอีก สมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงบัญญัติว่าถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นการสนามใหญ่ มีการอาวาหมงคล หรือวิวาหมงคล เป็นต้น ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมากดังนี้ และให้เรียกว่า พานขันหมาก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาลงานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามากและก็เป็นที่นิยมประดิษฐ์ในงานต่าง ๆ แทบทุกงาน โดยเฉพาะงานพิธีต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชนิยมการทำดอกไม้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีงานราชพิธีใด ๆ เจ้านายฝ่ายในต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้น ๆ เสมอ พระมเหสีเทวีทุกตำหนักใฝ่พระทัยในการจัดแต่งดอกไม้ไปตาม ๆ กัน แต่ละพระองค์ก็มีชื่อเสียงในทางต่าง ๆ กัน
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวงครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดอบรมข้าหลวงและครูโรงเรียนราชินีให้รู้จักทำดอกไม้แห้งลียนแบบดอกไม้สดด้วย ทรงส่งเสริมฟื้นฟูการทำดอกไม้เป็นอันมาก พระองค์เองก็ทรงใช้เวลาว่างประดิษฐ์ดัดแปลงการทำดอกไม้แบบเก่าให้แปลกพิสดารออกไปอีก มีพระนามเลื่องลือในการร้อยพวงมาลัย ซึ่งแต่เดิมมาไทยนิยมร้อยมาลัยด้วย ดอกมะลิ และเป็นมาลัยสีขาวกลมธรรมดาเท่านั้น และพลิกแพลงต่างกันไปบ้างก็เป็นมาลัยเกลียว คือ มีลวดลายเป็นเกลียวขึ้นไป สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงคิดร้อยมาลัยด้วยดอกไม้ต่าง ๆ และใช้ใบไม้แทรกทำให้มีลวดลายและสีต่าง ๆ กันอย่างงดงาม และพลิกแพลงทำรูปต่าง ๆ กันด้วย และในงานพระศพสมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
พระพันปีหลวงและสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระองค์นี้ พระศพประดิษฐานอยู่ ณ วังสะพานถ่าน ( คือ ที่ตลาดบำเพ็ญบุญเวลานี้ ) สมเด็จพระพันปีหลวง มีพระราชเสาวณีย์ดำรัสให้ท้าววรคณานันท์ ( ม.ร.ว.ปั้ม มาลากุล ) จัดทำมาลัยไปประดับพระศพ เช่น ตกแต่งตามฉัตรรัดพระโกษและแขวนตามประตู หน้าต่าง ตามประเพณีงานใหญ่ ๆ ของเจ้านายตลอดงานนี้ มาลัยที่ตกแต่งเปลี่ยนสี เปลี่ยนรูป เปลี่ยนแบบเรื่อย ๆ มา จึงนับได้ว่าตั้งแต่บัดนั้น การร้อยมาลัยได้มีการวิวัฒนาการก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นต้นมาหลายแบบและในระหว่างนั้นท่านเจ้าคุณประยูรวงศ์ก็ได้จัดทำมาลัยครุยขึ้นมา ท้าววรคณานันท์ เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าของมาลัยงามหลายแบบ และความรู้ความชำนาญในเรื่องร้อยมาลัยนี้ก็ได้สืบต่อมาจนถึง ม.ล.ป้อง มาลากุล ผู้ซึ่งมีความสามารถ ในเรื่อง การทำดอกไม้แห้งเป็นอย่างยิ่ง
มาลัยแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. แบ่งตามหน้าที่ใช้สอย ได้แก่ มาลัยชายเดียว ใช้สำหรับคล้องมือ คล้องแขน หรือบูชาพระ มาลัยสองชาย ใช้สำหรับคล้องคอ แขวนหน้ารถ หรือแขวนหัวเรือ และ มาลัยของชำร่วย ใช้มอบตอบแทนเป็นการขอบคุณแขกที่มาร่วมงานนั้นๆ
2. แบ่งตามลักษณะรูปแบบของการร้อย ได้แก่ มาลัยซีกหรือมาลัยเสี้ยว มาลัยกลม มาลัยแบน มาลัยรี มาลัยสามเหลี่ยม มาลัยสี่เหลี่ยม มาลัยตุ้ม มาลัยตัวหนอน มาลัยตัวหนอนคู่ มาลัยสามกษัตริย์ และมาลัยพวงดอกไม้
3. แบ่งตามลักษณะโครงร่างโดยทั่วไป ได้แก่ มาลัยตัวสัตว์ มาลัยลูกโซ่ มาลัยเปีย มาลัยเถา มาลัยครุย และมาลัยดอกกล้วยไม้
รูปร่างหน้าตาของมาลัย
มาลัยชายเดียว เป็นมาลัยที่มีลักษณะเป็นพวงกลม มีอุบะห้อยลงมาเป็นชายเพียงจุดเดียว อาจเรียกว่า มาลัยมือ หรือมาลัยคล้องแขน ถ้าใช้ในการทูลเกล้าฯ ถวายจะเรียกว่า มาลัยข้อพระกร นอกจากนี้ ยังใช้บูชาพระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
มาลัยสองชาย น่าจะเป็นมาลัยที่เราๆ ท่านๆ ค่อนข้างคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน แต่อาจจะไม่ได้วิจิตร ตระการตาทัดเทียมมาลัยที่ใช้ในพิธีแต่งงานเท่านั้น เป็นมาลัยกลมที่ผูกต่อกับริบบิ้น ทิ้งชายห้อยลงมาเป็นอุบะสองเส้น มักเรียกกันว่ามาลัยคล้องคอมากกว่า ใช้สำหรับคล้องคอบุคคลสำคัญในงานนั้น
มาลัยชำร่วย เพื่อให้สมชื่อมาลัยของชำร่วย จึงเป็นมาลัยที่มีขนาดพวงเล็ก กระจุ๋มกระจิ๋ม เพื่อให้แขกเหรื่อถือติดมือได้สะดวก เป็นมาลัยตุ้มที่ร้อยให้มีลักษณะตามขวางเป็นวงกลมขนาดเล็ก ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นทีละน้อย ช่วงกลางป่องโค้งมนแล้วค่อยๆ ลดให้เล็กลงจนมีขนาดเท่ากันตอนขึ้นต้น สรุปง่ายๆ ว่าเป็นมาลัยที่หัวท้ายเรียวช่วงกลางป่องนั่นเอง
มาลัยตัวสัตว์ นิยมนำดอกไม้มาร้อยให้เป็นรูปร่างคล้ายตัวสัตว์ที่ดูน่ารัก น่าเอ็นดู เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี เป็นต้น
อ้างอิง
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/uthaithanee/tissana_m/malai/sec01p02.html
https://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080410191646AAl2vS7
http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:http://www.kr.ac.th/ebook/pornpen/b1.htm&gws_rd=cr&ei=gjhzWYiuHcKNvQSksIqIBw
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น